ประวัติ CoE ช่วงที่ผมเป็นหัวหน้าภาควิชา เป็นช่วงประมาณ ปี 2541 – 2544           

(เท่าที่จำได้ เพราะล่วงเลยมากว่า 20 ปีแล้ว)

 

ปัญหาและภาระที่ต้องแก้ไขและปรับปรุง

ในช่วงที่ผมเข้ารับหน้าที่เป็นหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์นี้ มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น

  • มีการพัฒนาอาจารย์ ซึ่ง อาจารย์ส่วนหนึ่งได้เดินทางไปศึกษาต่อ ต่างประเทศ อาจารย์ที่ประจำอยู่ที่ภาควิชามีน้อย และบางท่านกำลังเตรียมการศึกษาต่อ
  • จำนวนนักศึกษาที่รับเพิ่มขึ้น เป็น 120 คน/ปี
  • ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เงินรายได้สะสมของภาควิชาเพื่อใช้ในกิจการต่างๆ ไม่เพียงพอ
  • การเตรียมการรองรับคณาจารย์ที่กำลังจะกลับจากการศึกษาต่อ

การเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นภาระงานสำคัญที่ต้องดำเนินการแก้ไขให้เหมาะสม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และเตรียมการเพื่อการก้าวสู่อนาคต

 

จำนวนนักศึกษาและการเตรียมการรองรับ

การพัฒนาสถานที่และอุปกรณ์ เป็นช่วงเวลาที่มีนักศึกษาเพิ่มขึ้น เป็น 120 คน ต่อปี ต้องมีการเตรียมอุปกรณ์ ด้านต่าง ๆ มีข้อดีที่นักศึกษาที่เข้ามา ยังเรียนวิชาส่วนกลาง และวิชาด้านวิทยาศาสตร์ เป็นส่วนใหญ่ ช่วงนั้น อาจารย์อาวุโส ส่วนใหญ่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ คงเหลืออาจารย์ในภาควิชา ประมาณ 13 ท่าน เป็นอาจารย์ใหม่ประมาณ 5 ท่าน และอาจารย์บางท่านกำลังเตรียมเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ต้องมีการปรับปรุงห้องเรียนให้รองรับนักศึกษา ทั้งห้องโครงงาน ห้องปฏิบัติการ ให้สามารถรับนักศึกษาจำนวนดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ได้มีการดำเนินการดังนี้

  • ได้ย้ายสำนักงานภาควิชาฯ จากห้องสมุด (ชั้น 2 ติดห้อง Computer Network เดิม) ไปที่ตั้งภาควิชาฯปัจจุบัน เพื่อสะดวกแก่การให้บริการ ควบคุม ดูแล และเป็นที่ทำงานและประชุมของอาจารย์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
  • ได้ขอห้องชั้น 3 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ (เดิมเป็นห้องเขียนแบบ) มาเป็นห้องปฏิบัติการซอฟต์แวร์  ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการซอฟต์แวร์ และ ห้องปฏิบัติการฮาร์ดแวร์ มีอย่างละ 2 ห้อง เนื่องจากการเรียนปฏิบัติการระหว่างชั้นปีต่างกัน และต้องเข้าเรียนพร้อม ๆ กัน อีกทั้งการจัดอุปกรณ์ในห้องปฏิบัติการที่ไม่เหมือนกัน ในห้องปฏิบัติการจะต้องตั้งเครื่องมือบางอย่างไว้ เพราะการยกเครื่องมือเข้าออกจำนวนมากทุกวัน เป็นงานที่เป็นไปได้ยาก
  • ต่อเติมห้องชั้นล่าง 2 ข้างบันใด เป็นห้องโครงงาน เพื่อรองรับนักศึกษาในชั้นปีที่ 3 และ 4 รวมกว่า 120 คน ทั้งนี้ห้องชั้น 3 มีห้องโครงงาน 1 ห้อง
  • จัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ จากเงินงบประมาณแผ่นดิน เงินรายได้ และเงินกู้ยืม ซึ่งต้องดำเนินการจัดหาให้ทันก่อนการเรียนการสอนที่จะมีขึ้น
  • มีการมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบดูแลอุปกรณ์ในห้องต่างๆ ห้องปฏิบัติการซอฟต์แวร์ ห้องปฏิบัติการฮาร์ดแวร์ และห้องต่างๆ มีกำหนดเจ้าหน้าที่ดูแล มีผังเครื่องมือ อุปกรณ์ มีการตรวจสอบอุปกรณ์ว่าอยู่ในสภาพพร้อมให้บริการหรือไม่ทุกวัน

การดำเนินการต่าง ๆ ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์และบุคลากรในภาควิชาฯ เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ทางผู้บริหารคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้เห็นถึงความสำคัญ และสนับสนุน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ภาควิชาฯสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น

การพัฒนาสาขาวิชา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ประกอบด้วย 4 สาขาวิชา คือ Computer Systems Design, Computer Networks, Information Engineering, Computer Control Systems and Robotics ทั้งนี้ ได้กำหนดอาจารย์เข้าสู่สาขาวิชาที่ชัดเจน เพื่อการพัฒนาอาจารย์ เช่น การฝึกอบรม การหาทุนการศึกษาเพื่อการศึกษาต่อ ให้ตรงกับสาขาการปฏิบัติงาน ได้จัดสรรงบประมาณจากงบประมาณแผ่นดินและเงินรายได้ เพื่อการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ ในแต่ละสาขาวิชา ในวงเงินประมาณ 20,000 บาท/สาขา (เป็นช่วงที่เริ่มมีเงินรายได้แล้ว ประมาณ ปีที่ 2 ที่ได้รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาฯ)

 

การพัฒนาอาจารย์

          การที่มีการขยายการรับนักศึกษา รวมทั้งการพัฒนาอาจารย์ทำให้จำนวนอาจารย์ที่มีอยู่ต้องรับภาระมากขึ้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้จัดสรรตำแหน่งอาจารย์ เพิ่มเติมให้กับภาควิชา 3 ตำแหน่ง อีกทั้งมีอาจารย์ลาออก 2 ท่าน ทำให้ช่วงนี้มีการรับอาจารย์ใหม่ เพิ่ม 5 ท่าน ซึ่งบรรจุมาในระยะเวลาที่แตกต่างกัน

การพัฒนาความรู้ด้านภาษาและอื่นๆ ภาควิชาฯ ได้กำหนดงบประมาณวงเงินรายได้ประมาณ 5,000 บาท/อาจารย์/ ท่าน เพื่อการพัฒนาตนเอง ด้านต่างๆ รวมถึงการพัฒนาด้านภาษา (ใช้ในการร่วมประชุม สัมมนา ฝึกอบรม ประมาณ 2 ครั้ง/ปี) และมีเงินสนับสนุนอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์เพื่อการศึกษาต่อ อีกท่านละ 200,000 บาท/ปี  

เนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ทุนการศึกษาหาได้ยาก ดังนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงจัดสรรทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาอาจารย์ดังกล่าว ภาควิชาฯ ได้ประสานขอทุนจากสถานทูตฝรั่งเศส แต่สถานทูตไม่มีทุนให้ ภาควิชาฯโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้จัดทำโครงการขอใช้หลักการร่วมมือโดยใช้ทุนสนับสนุนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป และขอส่วนเพิ่มจากสถานทูตค่าใช้จ่ายในการศึกษา (ซึ่งต่อมาสถานทูตได้ปรับทุนทั้งหมดให้เป็นทุนของสถานทูต) ทุนที่ได้รับการจัดสรรมีจำนวน 10 ทุน เป็นของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ 4 ทุน และกระจายตามภาควิชาต่างๆ อีก 6 ทุน

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมโครงการพัฒนาอื่น ๆ กับต่างประเทศ เช่น โครงการร่วมมือกับประเทศจีน โครงการร่วมมือกับสหราชอาณาจักร และโครงการ JSPS เป็นต้น มีการดูงานระหว่างกันและการแลกเปลี่ยนนักวิจัย

อาจารย์ชาวต่างประเทศมี 3 ท่าน คือ Dr. Andrew Davidson, Dr. Sikke Hempenius และ Assoc. Prof. Dr. Charlie Krey

 

การพัฒนาระบบบริหารและบริการ

การพัฒนาระบบเก็บเอกสาร ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

  1. ได้พัฒนาระบบ Scan เก็บเอกสาร (อาจเป็นภาควิชาแรก ๆ ใน มอ.) โดยมีระบบการกระจายเอกสารไปยังอาจารย์แต่ละท่าน และอาจารย์สามารถเข้าดูเอกสารเข้า-ออกได้ โดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์ของภาควิชาฯ
  2. ได้พัฒนาระบบประกันคุณภาพการบริหาร โดยได้จัดทำคู่มือการทำงานของเจ้าหน้าที่ในระดับต่าง (เป็นที่ดูงานของหน่วยงานต่าง ๆ) ได้จัดทำรายงานการทำงานในแต่ละวันของบุคลากรสนับสนุน โดยมีสายการบังคับบัญชาเป็นขั้นตอน และมีการประชุมบุคลากรสายสนับสนุนทุกเช้าวันจันทร์ เพื่อรายงานปัญหาในการปฏิบัติงานและการเตรียมงานในสัปดาห์
  3. มีการจัดระบบ Scan ลายนิ้วมือ เพื่อเข้าภาควิชาในยามวิกาล ติดตั้งกล้องวงจรปิ
  4. ซื้อ Lead line Internet ขนาด 512 Kb (สูงมากในขณะนั้น) เพื่อให้บริการนักศึกษาทั้งของคณะและภาควิชาฯ กิจกรรมนี้ได้จัดทำขึ้นในช่วงปลายของการเป็นหัวหน้า (ก่อนที่ผมจะลาออกจากราชการ) เมื่อ ดร.สินชัย อาจารย์ทศพร และดร. มนตรี กลับจากการศึกษาแล้ว

 

การให้บริการทางวิชาการ

          ในช่วงเวลานี้ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลได้จัดทำโครงการการพัฒนาอาชีพ ซึ่งภาควิชาได้พัฒนาหลักสูตรการอบรมจำนวนมากให้บริการ นอกจากนี้ อาจารย์ได้พัฒนาโครงการฝึกอบรม และโครงการวิจัยจำนวนมาก ทำให้ภาควิชามีกิจกรรมต่อเนื่องตลอดเวลา เงินรายได้สะสมภาควิชาฯ มากขึ้นทำให้สามารถพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ การให้บริการ และการพัฒนาสถานที่ได้อย่างดี เช่น การใช้เงินรายได้สบทบกับงบประมาณแผ่นดินเพื่อการก่อสร้างส่วนต่อเติมของภาควิชาฯ บริเวณท้ายตึกหุ่นยนต์ ทำให้มีห้องใช้งานมากขึ้น เพื่อการบริการนักศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น

 

การขยายเขตการศึกษา

          สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นสาขาที่ได้รับการสนใจทั้งในอดีตและปัจจุบัน ภาควิชาฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้พัฒนาความร่วมมือกับวิทยาลัยชุมชนภูเก็ต (ในขณะนั้น) เพื่อขยายเขตการศึกษาไปยังภูเก็ต ซึ่งมีระยะเวลาโครงการประมาณ 12 - 15 ปี (ไม่ทราบว่าการดำเนินการในปัจจุบันเป็นอย่างไร) ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ก่อให้เกิดรายได้กับคณะและภาควิชาฯ อย่างต่อเนื่องและรองรับการทำงานของคณาจารย์ที่จะกลับจากการศึกษาต่อ เมื่อมีจำนวนอาจารย์เต็มโครงการ

ขอขอบคุณ อาจารย์ และบุคลากรทุกท่านที่ร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจในการพัฒนาภาควิชาฯอย่างต่อเนื่อง ทั้งอาจารย์ประจำ อาจารย์พิเศษ และอาจารย์ชาวต่างประเทศ อยากแนะนำการพัฒนาภาควิชาว่าน่าจะมีสาขาวิชาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งนับเป็นสาขาที่จะมีความสำคัญในอนาคตในการพัฒนาประเทศ

ปล. เป็นรูปเมื่อตอนลาออกจากราชการใหม่ ๆ ดูเรียบร้อยหน่อย ปัจจุบันไม่มีรูปที่แต่งกายในลักษณะนี้ เป็นเสื้อยืดเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่ได้ไปไหน อายุย่าง 70 ปีแล้วครับ

ผศ.ดร. อำนวย สิทธิเจริญชัย

อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2541-2544

12 พฤศจิกายน 2564

Go to top